ตอนที่ 3/4 ปิดบัญชี @ ตัวอย่างเอกสาร “ใบรับเงิน” มาตรา 35 (7) ความช่วยเหลืออื่นใด กับครอบครัวคุณธำมรงค์ นนทารักษ์ ได้รับสิทธิตามมาตรา 35 มูลค่า 112,420 บาท ในการทำอาชีพเลี้ยงหมู จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)

สวัสดีครับทุกท่าน บทความนี้เป็นบทความที่ผมตั้งใจว่า จะทำให้กับครอบครัวคนพิการทุกครอบครัวที่ได้รับสิทธิตามมาตรา 35 โดยจะแบ่งเป็น 4 ตอน มีตอน ¼ การใช้สิทธิ์ ตอน 2/4 การดำเนินการ ตอน ¾ ปิดบัญชี และตอน 4/4 ส่งมอบงาน สำหรับบทความนี้เป็น “ตอน ¾ ปิดบัญชี” ของคุณม่วยเจียง และคุณธำมรงค์ ที่ได้รับการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงหมู จากบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา “มาม่า” ซึ่งกรณีของคุณจินตนา ดีที จะเป็นอีกตัวอย่างที่น่าสนใจและผมนำมาแบ่งปันให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ



การพูดคุยสนทนากับคุณธำมรงค์ นนทารักษ์ คนพิการที่มีภรรยา (คุณม่วยเจียง) เป็นผู้ใช้สิทธิมาตรา 35 อาชีพเลี้ยงหมู ครับ

ปรีดา: สวัสดีครับคุณธำมรงค์ คุณม่วยเจียง ในที่สุดแม่หมูลูกหมู ก็มาถึงคอกเรียบร้อยแล้วนะครับ และใบรับเงินทั้งหมดตามมูลค่า 112,420 บาท ก็ครบเรียบร้อยแล้วด้วย ผมจะได้ทำบทความ “ตอนที่ ¾ ปิดบัญชี” ให้กับธำมรงค์กับคุณม่วยเจียงด้วยครับ

คุณม่วยเจียง: ธำมรงค์: สวัสดีครับพี่ปรีดา สวัสดีค่ะคุณปรีดา

ปรีดา: ครับ งั้นเริ่มเลยนะครับ ผมขอเริ่มตรงที่คุณม่วยเจียง รู้สึกอย่างไรกับอาชีพเลี้ยงหมูที่ได้รับสิทธิมาตรา 35 ในการสนับสนุนอาชีพครอบครัวคนพิการจาก บริษัทมาม่า คุยกับน้องรงค์ไปเยอะแล้ว ครั้งนี้จะเน้นถามคุณม่วยเจียง เป็นหลักครับ

คุณม่วยเจียง: ได้ค่ะ ก็ต้องขอขอบพระคุณมากๆ นะค่ะที่ทางบริษัทมาม่า ที่ปีนี้ได้ให้การสนับสนุนอาชีพที่จะทำให้ครอบครัวเราได้มีอาชีพที่มั่นคงถาวร เราจะทำตรงนี้ให้ดีที่สุดค่ะ ตอนที่รู้ว่าต้องเสนออาชีพอะไรก็ได้จากคุณปรีดาบอกเราว่าจะนำไปคุยกับผู้ใหญ่ให้ เราก็รีบบอกเลยค่ะว่าจะเลี้ยงหมู เพราะว่าเคยเลี้ยงมาแล้วค่ะ อย่างอื่นก็ไม่กล้าทำเพราะไม่เคยทำ ดีใจมากๆ เลยค่ะ แล้วลงทุนเงินเป็นแสน ลำพังเราสองคนคงไม่มีทางเลยค่ะ เพราะเงินเยอะมากค่ะ จะไปหากู้ที่ไหนก็ไม่มีหรอกค่ะ เขาไม่ให้กันหรอก ธนาคารยังให้ไม่กี่หมื่นค่ะ ดีใจมากๆ ค่ะที่ทางมาม่าสนับสนุนค่ะ เท่ากับเราไม่ต้องไปกู้ที่ไหน ไม่ต้องจ่ายต้น ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ไม่มีอีกแล้วโอกาสดีๆ แบบนี้ค่ะ

ปรีดา: ครับ ผมดีใจด้วยครับ ผมเองก็อยากให้คนในสังคมไทยได้รู้ว่า สิทธิของคนพิการมันมีค่ามากนะครับ และผมก็อยากเห็นหลายๆ ครอบครัวว่า พอได้เงินแสนกว่าบาทมาแล้ว จะทำอะไรได้บ้าง มีอาชีพอะไร และอยู่รอดหรือไม่ แน่นอนว่าผมจะติดตามไปตลอดนะครับ จะอัพเดททุกๆ ปี เพื่อให้ทางบริษัทมาม่า ได้ทราบได้เห็นพัฒนาการของทุกๆ คนด้วยครับ

ปรีดา: ผมถามต่อนะครับ พอดีพอทราบว่าคุณม่วยเจียงไม่สบายอยู่ เป็นอะไรครับแล้วจะกระทบการเลี้ยงหมูไหมครับ

คุณม่วยเจียง: ไม่เลยค่ะ ไม่กระทบค่ะ พอดีต้องผ่าตัดตาค่ะ ช่วงแรกต้องพักเยอะหน่อยค่ะเท่านั้นเองค่ะ ช่วงต้นอาจจะต้องให้คนอื่นมาช่วยดูแลไปก่อนไม่ถึงเดือนจากนั้นก็ทำเองได้แล้วค่ะ เพราะเวลาผ่าตัดตา คุณหมอจะไม่ให้ก้มๆ เงยๆ ห้ามทำงานหนัก ห้ามยกของค่ะ จึงตั้งใจว่าจะลงหมูช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ค่ะ

ปรีดา: ครับยังไงก็ขอให้หายเร็วๆ นะครับ ก่อนหน้านี้ผมได้พูดคุยกับทางคุณธำมรงค์เป็นระยะๆ ปัญหาเรื่องโรงเรือนคอกหมูที่เปลี่ยนใจมาทำแบบถาวร ใช้โครงสร้างเป็นเหล็ก กับเรื่องงบประมาณอาหารเลี้ยงหมู ตรงนี้บริหารจัดการอย่างไรครับ

คุณม่วยเจียง: ค่ะ คือเราสองคนปรึกษากันแล้วค่ะ เหตุผลที่เราไปให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนโครงสร้างของโรงเรือนมาทำแบบเหล็กนั้น เรามองว่าเราอยากให้เงินที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทมาม่า คุ้มค่ามากที่สุดค่ะ เราจึงแบ่งเงินส่วนของอาหารหมูมา ตอนทำโรงเรือนจริงๆ มีหลายส่วนที่เราเห็นว่าควรทำ เราก็ตัดสินใจทำเพิ่มค่ะ เช่นเรื่องการบริหารจัดการระบบน้ำ ทั้งน้ำให้หมู กับน้ำที่ใช้ทำความสะอาดคอกหมู เราขุดสระเผื่อไว้ หากน้ำประปาใช้ไม่ได้เรายังมีน้ำสระใช้ได้ค่ะ

ปรีดา: ผมมีคำถามเรื่องอาหารหมูด้วยครับ ในรายละเอียดโครงการ มูลค่าของอาหารหมูใช้เลี้ยงหมูหลายเดือน ตรงนี้บริหารอย่างไรครับ

คุณม่วยเจียง: ค่ะ เรื่องอาหารหมู เราทำแบบนี้ค่ะ คือเราจ่ายเงินให้กับร้านอาหารหมู แต่เราเพื่อต้องการใบรับเงินมาปิดบัญชีโครงการ แต่เราจะกำหนดช่วงเวลาให้มาส่งเป็น 2 ครั้งคือ ครั้งแรกที่หมูมาลงคอกแล้วค่ะ ส่วนครั้งที่สองประมาณอีก 2 เดือนถึงจะมาส่งอีกครั้งค่ะ ตัวอาหารหมูจะได้ใหม่ ไม่ชื้นค่ะ ระหว่างนี้ดูแลเรื่องอาหารแบบนี้ไปก่อน แต่หลังจากที่ตาที่ผ่าตัดหายดีแล้ว จะทดลองทำหยวกกล้วยเข้ามาผสมร่วมด้วยค่ะเพราะข้างๆ โรงเรือนมีป่ากล้วยอยู่ค่ะ 


ปรีดา: ครับเข้าใจแล้วครับ ผมถามเยอะหน่อยนะครับ เพราะไม่เข้าใจ สงสัยผมจะชอบถามครับ แล้วตอนนี้เรื่องโรงเรือนไปถึงไหนแล้วครับ

ธำมรงค์: ครับอีกไม่กี่วันก็เสร็จแล้วครับ พรุ่งนี้ก็น่าจะเรียบร้อยครับ เดี๋ยวผมจะถ่ายภาพให้ดูครับ เทปูนไปแล้ว รอเก็บงานส่วนต่างๆ ให้เรียบร้อยครับ

รถเทปูนมาแล้วครับ 











ปรีดา: ผมมีอีกคำถามครับ คือ ผมพอมีประสบการณ์เรื่องรถขุดมาบ้าง ไม่ใช่ถูกๆ เลยนะที่จะใช้รถขุดมาขุดสระ ตามที่คุณธำมรงค์ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อ “ตอนที่ 2/4 ดำเนินการ” อย่างนี้จะเกินงบประมาณรึเปล่าครับ ต้องไปกู้เงินมาเพิ่มรึเปล่า ลำบากรึเปล่าครับ

ธำมรงค์: ครับพี่ปรีดา คือเรื่องนี้ ผมขออธิบายว่า สำหรับการทำคอกหมู อาชีพเลี้ยงหมูครั้งนี้ เราสองคนใช้เงินมากกว่าที่ได้รับจากทางบริษัทมาม่า อยากให้พี่เข้าใจเราว่า หลายๆ เรื่อง อีกนิดเดียวมันก็จะดีมาก คือดีอยู่แล้ว แต่อีกนิดเดียวจะดีมาก เราก็เลือกดีมาก ทำให้ครั้งนี้มีงบประมาณเพิ่มจากเดิมไปอีกเกือบ 3 หมื่นบาท แต่เราก็พยายามกันนะครับ เพราะอยากให้ 112,420 บาท มีค่ามากที่สุดครับ ส่วนเรื่องรถขุดนั้นถือว่าเป็นความโชคดีของเรา ที่คนแถวนี้รวมตัวกันเรียกรถขุดพอดี เราจึงประสานงานให้มาขุดสระให้เราด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ 3,000 บาท ให้รวมอยู่ในส่วนของผู้รับเหมาที่มาทำโรงเรือนคอกหมู ด้วยครับ

ปรีดา: ครับ งั้นก็ไม่แพงนะเพราะว่า 3,000 บาทเองครับ ปกติถ้าเหมาวันมายังไงก็ต้องมีเกือบหมื่นบาทครับ ผมเห็นเอกสารแล้ว รายการต่างๆ ตรงนี้ผมอยากให้เป็นข้อมูลพูดคุยกันด้วยเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่าน เช่น ตัวคนพิการเอง ผู้ดูแลคนพิการ สถานประกอบการที่ต้องการทำให้ถูกต้อง รวมไปถึงข้าราชการที่จะลงตรวจ คือตรวจแบบยุติธรรมไม่อคติ ตรวจให้เห็นว่า เงิน 52,000 บาท ได้ขนาดนี้ ได้โรงเรือนคอกหมูดีๆ แบบนี้ ใครๆ อาจทำไม่ได้อย่างที่ครอบครัวธำมรงค์ทำก็ได้ อาจถูกคิดเงินเป็นแสนบาทก็ได้ครับ อีกทีหนึ่งคือทำให้พวกทุจริตคอรัปชั่นดูว่า ทำเรื่องดีๆ เขาทำกันอย่างไร อย่าเที่ยวไปโกงเงินของคนพิการ เป็นถึงสมาคม มูลนิธิใหญ่โต มีงบประมาณปีละ 30 ล้านบาท ไม่ควรไปคิดค่าดำเนินการ ค่าธุระ ค่าเขียนเอกสารทำเอกสาร หรือหักหัวคิวคนพิการได้แล้ว คนเขารู้กันหมดแล้ว คนพิการและครอบครัวจะได้ลืมตาอ้าปากเสียที งั้นเราสนทนากันเรื่องนี้นะครับ

ธำมรงค์: ได้ครับพี่ คือปัญหาของผมตอนแรกนะครับ ถึงผู้รับเหมาจะเหมางานเราไปแล้ว แต่เราก็ช่วยเขา เราโทรสั่งของให้ เราจ่ายเงินให้ เรารวมใบบิลเขียนมือไว้ ซึ่งผมเครียดมาก ผมจึงปรึกษาพี่ว่าเรื่องใบบิลจะทำอย่างไรดี เพราะเป็นร้านค้าทั่วไปที่เราไปวิ่งซื้อของ ไม่มีใครมีชื่อร้าน และซื้อของหลายที่ด้วยครับ แต่พอพี่อธิบายให้ผมฟังว่าทำอย่างไร ผมก็สบายใจขึ้นครับ

ปรีดา: ใช่ครับ ตอนนั้นผมอธิบายว่า เริ่มจากวิธีคิดก่อน คือเราไม่ได้โกงใคร แม้แต่ซื้อของที่มาทำในโครงการเราก็ไม่โกง ต่อให้ซื้อเท่าไหร่ก็จ่ายส่วนต่างให้ผู้รับเหมาอยู่แล้ว ที่สำคัญเงินก็จ่ายเกินอีกด้วย ดังนั้น ยอดรวมของ 52,000 บาท ให้เขียนรายการอุปกรณ์ของลักษณะเหมารวมเป็นแถวละรายการได้เลย สำคัญที่สุดเรามีสำเนาบัตรประชาชนผู้รับเงินจากคุณม่วยเจียง และมีแบบฟอร์มรับเงิน ก็ให้ทำตามแบบฟอร์มที่ให้ไว้ เพราะรัดกุมที่สุดแล้ว ราชการก็ใช้แบบนี้ ทางบัญชีของเอกชนก็ใช้แบบนี้ครับ

ธำมรงค์: นั่นละครับ ช่วงนั้นผมเครียดมากครับเรื่องใบเสร็จรับเงินที่ต้องส่งครับ














ระบบปั๊มน้ำ ดูดน้ำสำรองมาจากสระที่ขุดไว้ครับ




พิธีไหว้คอกหมู ก่อนจะนำหมูมาลงคอกครับ

ปรีดา: ดีมากครับ พวกโกงทุจริตมันจ้องแต่จะทำใบเสร็จรับเงินปลอม พวกนี้มันทุ่มเงินปิดโรงแรมทำใบเสร็จรับเงินปลอมโครงการต่างๆ โดยมีข้าราชการรู้เห็นเป็นใจ มาร่วมบอกด้วยว่าต้องทำแบบไหนยังไง โกงกันเป็นร้อยล้านบาท เอกสารแหกตาที่ข้าราชการระดับสูงก็ให้ผ่านด้วยคงมีผลประโยชน์ร่วมกัน เอกสารที่คุณธำมรงค์กับคุณม่วยเจียง ดีกว่าของพวกทีโกงแบบเปรียบเทียบกันไม่ได้ครับ

ธำมรงค์: แล้วพี่เคยเห็นหรือครับ

ปรีดา: ไม่ใช่แค่เห็น แต่ผมส่งให้ทางหน่วยงานตรวจสอบสืบสวนสอบสวน กับมือครับ แต่เอกสารส่วนนี้ผมไม่ให้ข้าราชการที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงนะ ให้ไปก็ช่วยเหลือกันครับ สำหรับโครงการต่างๆ ของบริษัทมาม่านั้น ผมตั้งใจเลยว่าผมจะทำบทความเผยแพร่ในเว็บไซต์ให้เป็นต้นแบบดีๆ กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องครับ มาช่วยกันทำเรื่องดีๆ ครับ

ธำมรงค์: ครับพี่ปรีดา เราสองคนจึงอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ครับ เราอยากให้ตอนมาม่ามาเยี่ยมเรา เรารับมอบจากทางมาม่าแล้ว ทางมาม่าดีใจภูมิใจกับเงินที่ให้เรามาครับ

ปรีดา: แล้วเรื่องที่ผมเกริ่นไว้ว่า อยากให้คุณธำมรงค์กับคุณม่วยเจียง ขึ้นป้ายเป็น “ศูนย์การเรียนรู้สิทธิมาตรา 35 (7) ความช่วยเหลืออื่นใด อาชีพเลี้ยงหมู” ยินดีรึเปล่าครับ

ธำมรงค์: ยินดีครับพี่ เราสองคนยินดี พี่เล่าให้ฟังแล้วก็อยาก พูดในสิ่งที่เรารู้ กฎหมายว่าอย่างไร เราได้สิทธิมาตรา 35 อย่างไร เราสองคนสืบราคาการทำอาชีพเลี้ยงหมูเอง ค่าทำโรงเรือนตอนเสนอเท่าไหร่ ทำจริงเป็นอย่างไร ราคาอาหารหมู ราคาหมู วิธีเลี้ยงหมู เราลงมือทำเองทุกอย่าง เราอธิบายได้หมด ถ้าใครมาถามเราก็ตอบได้ครับ เราเซ็นต์สัญญาเอง ได้รับเงินตรงเอง ตลอดโครงการพี่ปรีดาเป็นที่ปรึกษาให้กับเราทั้งหมดตลอดเวลาจนเสร็จเรียบร้อย

มาซื้อหมูและจ่ายเงินเรียบร้อยครับ



หมูมาลงที่คอกเรียบร้อยครับ





ปรีดา: นั่นละครับถูกต้องทุกสิ่งทุกอย่างที่ทั้งสองคนเข้าใจ และลงมือปฏิบัติเอง ของจริงต้องแบบนี้ ถามกี่รอบก็ตอบถูกต้องหมด คำตอบคือเงินแสนกว่าบาทมีค่ามากนะ หายากสมัยนี้ ขออย่างเดียวอย่ามาโกงคนพิการไป เร็วๆ นี้จะเปิดโปงข้อมูลการโกงของมูลนิธิใหญ่กับอีกสองสมาคมให้ได้รับรู้กันด้วยครับ อย่าลืมนะครับน้องหมูลงแล้ว ส่งภาพให้พี่ด้วย แล้วพี่จะเร่งทำบทความตอนนี้ให้ครับ คำถามปิดการสนทนาของเราเช่นเคยนะครับ อยากให้ทั้งสองท่านกล่าวถึงบริษัทมาม่า ด้วยครับ

คุณม่วยเจียง: ค่ะ เราขอขอบพระคุณทางบริษัทมาม่า ที่ให้โอกาสครอบครัวเราถึง 3 ปีนะค่ะ ซึ่งที่ผ่านมาทำให้ชีวิตโดยรวมดีขึ้นมากค่ะ ปีนี้ (2563) พอเรารู้ว่าจะได้เงินก้อนมาประกอบอาชีพเราดีใจมากค่ะ เลี้ยงหมูเป็นอาชีพใฝ่ฝันของเราค่ะ ถ้าไม่ได้ทางบริษัทมาม่า ก็ไม่รู้ว่าเราสองคนจะมีโอกาสดีๆ แบบนี้รึเปล่าในชีวิต รงค์เขาทำเรื่องนี้เองไม่ได้ ฉันจะเป็นคนทำ จะทำให้ดีที่สุดค่ะ ขอบพระคุณสำหรับโอกาสในครั้งนี้ที่มอบให้เราสองคนค่ะ

ธำมรงค์: ครับ ผมต้องขอบพระพระคุณผู้ใหญ่ของบริษัทมาม่า มากครับ หากได้มาเยี่ยมผมมั่นใจว่าจะได้เห็นโรงเรือนที่เราตั้งใจทำให้ดีที่สุดครับ ผมจะเผยแพร่ความรู้ให้คนอื่นๆ และจะบอกทุกๆ คนว่าได้รับการสนับสนุนจากทางมาม่า ครับ ครอบครัวเราไม่รู้เลยว่าจะมีโอกาสแบบนี้จากที่ไหน ถ้าไม่ใช่ได้รับจากทางมาม่าครั้งนี้ครับ ขอบพระคุณมากๆ อีกครั้งครับ

ปรีดา: ครับ เช่นเคยนะครับ ไฮไลท์ของบทความตอนนี้ “ตอนที่ ¾ ปิดบัญชี” ก็ต้องเป็นการนำ “ใบรับเงิน” มาแสดงให้เห็นในบทความนี้นะครับ ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าคุณม่วยเจียง (ผู้ดูแลคนพิการ นายธำมรงค์ นนทารักษ์) ได้ใช้เงินที่ได้รับจากบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) อย่างคุ้มค่าและตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการ อีกทั้งจะยังเป็นต้นแบบ ตัวอย่างที่ดี ของผู้ใช้สิทธิมาตรา 35 ซึ่งก็คือคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ กับสถานประกอบการที่มีความประสงค์จะช่วยเหลือครอบครัวคนพิการอย่างแท้จริงครับ








ทุกท่านครับ บทความทุกๆ บทความในเว็บไซต์นี้ ผมไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่า ผมอยากให้คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ และคนในครอบครัวที่มีคนพิการ ได้รู้ว่า คนพิการ 1 คนนั้นมีสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมายที่จะได้รับการส่งเสริมอาชีพในแต่ละปีมากถึง 80,000 คน มีมูลค่าต่อคนจำนวน 112,420 บาท ถ้าทุกท่านตามอ่านทุกบทความจะรู้ว่า การกระทำที่ถูกต้อง การสนับสนุนที่ถูกต้องนั้น ต้องทำแบบอย่างบริษัทมาม่า หรือบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ตัวกลางส่วนใหญ่ในประเทศ สมาคม มูลนิธิต่างๆ มีงบประมาณกระทรวงให้อยู่แล้ว ต้องไม่มีการคิดค่าดำเนินการใดๆ กับมาตรา 35 (3) จ้างเหมาบริการ และ (7) ความช่วยเหลืออื่นใด โครงการที่ดีนั้น คนพิการและผู้ดูแลคนพิการจะได้รับเต็มเม็ดเต็มหน่วย คนพิการและครอบครัวอย่าตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มทุจริตคอรัปชั่น อย่าหวังเงินส่วนน้อยที่เขาให้มา หากร่วมโกงด้วยบาปกรรมก็จะติดตัวไปทุกภพทุกชาติ สถานประกอบการก็เช่นกัน เมื่อสถานประกอบการรู้แล้วว่า สมาคม มูลนิธิ แห่งใดกระทำความผิดทุจริตบิดเบือนกฎหมาย สร้างเวรสร้างกรรม สถานประกอบการแห่งนั้นก็ควรหยุดให้การสนับสนุนในปีถัดไป ผู้ไม่รู้คือผู้ไม่ผิด แต่เมื่อรู้แล้วยังสนับสนุนต่อขอให้เดาได้เลยว่ามีคนในองค์กรของท่านอาจจะกำลังร่วมทุจริตกับสมาคม มูลนิธิแห่งนั้นครับ

สัมภาษณ์เมื่อ 30 พฤษภาคม 2563
พิมพ์เมื่อ 14 มิถุนายน 2563

สำหรับโครงการ Workable Organization หากคนพิการและผู้ดูแลคนพิการได้เข้าร่วม ก็จะได้รับสิทธิมาตรา 35 เช่นเดียวกันกับหลายๆ ท่านที่ได้รับโอกาสดีๆ จากบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ในเว็บไซต์ รวมถึงคุณม่วยเจียง และคุณธำมรงค์ นนทารักษ์ ในบทความนี้เช่นเดียวกันครับ

ส่วนตัวผมเชิญชวนคนพิการและครอบครัวนะครับ ในการเข้าร่วมโครงการกับเรา Workable Organization ร่วมสมัครเป็นสมาชิกกับเรา อ่านรายละเอียดทั้งหมดก่อนตัดสินใจที่ลิงก์เว็บไซต์นี้ครับ https://workableorganization.blogspot.com/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น