ตัวอย่างเอกสารมาตรา 35 (7) ความช่วยเหลืออื่นใด กับครอบครัวคุณธำมรงค์ นนทารักษ์ ได้รับสิทธิตามมาตรา 35 มูลค่า 112,420 บาท ในการทำอาชีพเลี้ยงหมู จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)

สวัสดีครับทุกท่าน สำหรับบทความชุดตัวอย่างเอกสารมาตรา 35 (7) ความช่วยเหลืออื่นใด ที่ทางบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนในปี พ.ศ.2563 มีความน่าสนใจหลายมุมมอง กรณีของครอบครัวคุณธำมรงค์ นนทารักษ์ ซึ่งเป็นคนพิการรุนแรง และได้รับสิทธิ์มาแล้ว 2 ปี แต่ในปี 2563 นี้จะเป็นปีสุดท้ายที่คุณธำมรงค์ จะได้รับ พบกับทสัมภาษณ์ที่จะทำให้ทุกท่านจะสัมผัสได้ว่า เหตุใดทางบริษัทมาม่า ถึงให้การสนับสนุนคุณธำมรงค์ต่อเนื่อง และทำไมปีนี้จึงเป็นปีสุดท้าย ติดตามอีกตัวอย่างที่สุดยอดทั้งวิธีคิด ทัศนคติ สะท้อนถึงการให้โอกาสของบริษัทมาม่า อย่างน่าสนใจครับ


คุณธำมรงค์ นนทารักษ์ ใช้ปากคาบพู่กันวาดภาพครับ

ความพิการที่เป็นหนักมาก คุณธำมรงค์ ยกหัวไหล่ไม่ได้


ภาพคุณธำมรงค์ นนทารักษ์ พิการแนวไขสันหลังครับ

สัมภาษณ์ คุณธำมรงค์ นนทารักษ์

ปรีดา: สวัสดีครับน้องรงค์ บทสัมภาษณ์ตอนแรกของรงค์ ผมอยากให้รงค์ซึ่งเป็นคนพิการที่ใช้สิทธิมาตรา 35 แตกต่างจากคนอื่นๆ เพราะว่าน้องรงค์ได้เคยใช้สิทธิ์ก่อนหน้านี้มาแล้ว 2 ปีในการจ้างเหมาบริการ (3) วาดภาพด้วยฝีมือคนพิการ แต่ปีนี้ทางบริษัทมาม่า หรือ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) มีนโยบายให้คนพิการและครอบครัวสามารถที่จะอยู่รอดมีอาชีพที่มั่นคงยังยืนภายในการช่วยเหลือ 1 ปี เพื่อให้การช่วยเหลือมีประสิทธิภาพ น้องรงค์เป็นคนพิการรุนแรง จึงได้รับสิทธิ์นี้อีกครั้ง และผมคิดว่าอาชีพที่น้องรงค์ได้เลือกแล้วนั้นมีความน่าสนใจ จะเป็นอีกตัวอย่างที่น่าประทับใจกับผู้อ่านทุกท่านครับ ผมจึงขอเริ่มตรงที่อยากให้รงค์ย้อนไปถึง 2 ปีก่อนหน้านี้ด้วยครับ

ธำมรงค์: ครับพี่ปรีดา สำหรับอาชีพเลี้ยงหมู ที่ผมเลือกเพราะว่า เราไม่ต้องไปเช่าที่ ผมใช้พื้นที่หลังบ้านผมครับ บ้านผมอยู่นอกเมือง ที่ผมอยู่ปัจจุบันเป็นในเมือง ผมขอเล่าถึงชีวิตครอบครัวผมเล็กน้อย ผมกับภรรยาไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เธออยู่ในเมือง ผมอยู่นอกเมือง พอได้รู้จักกันมันเป็นความผูกพัน เธอจะมาหาผมสัปดาห์ละครั้งทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน พอตกลงว่าจะใช้ชีวิตร่วมกันผมจึงตัดสินใจมาอยู่ในเมืองกับเธอ ซึ่งเราต้องเช่าบ้าน ต้องขายก๋วยเตี๋ยวทุกวัน ลำบากมากครับ ผมก็ต้องออกมาเป็นเพื่อนภรรยาทุกวัน จนมาได้ใช้สิทธิ์วาดภาพกับทางบริษัทมาม่า ถึง 2 ปี ชีวิตดีขึ้นมาก พัฒนาฝีมือดีขึ้นทำให้ภาพที่วาด ส่งไปแสดงที่แกลลอรี่ก็มีคนซื้อ แต่การใช้สิทธิ์แบบจ้างเหมาบริการแบบนี้ไปเรื่อยๆ ผมเองก็รู้สึกเลยว่า เหมือนผมเอาเปรียบเพื่อนคนพิการคนอื่นๆ ผมคิดอยู่ในใจตลอดเวลา จนพี่ปรีดามาบอกผมว่า ปี 2563 นี้ ทางบริษัทมาม่า มีนโยบายส่งเสริมอาชีพให้อยู่รอดภายในการใช้สิทธิ์เพียง 1 ปี ผมจึงไม่ลังเลใจที่จะเลือกอาชีพเลี้ยงหมูครับ

ปรีดา: แค่เริ่มต้นก็น่าสนใจแล้วนะครับน้องรงค์ ผมชอบวิธีคิดของรงค์ตรงที่ รงค์เองก็รู้สึกว่าการวาดภาพทุกๆ ปี เป็นการเอาเปรียบคนพิการคนอื่น เมื่อมีโอกาสอีกครั้ง รงค์จึงไม่ลังเลในการเลือกอาชีพเลี้ยงหมูทันที งั้นผมขอสัมภาษณ์รงค์ ตรงที่มาที่ไปที่น้องรงค์และภรรยาเลือกอาชีพเลี้ยงหมู ครับ

ธำมรงค์: ครับพี่ หลังบ้านผมที่อยู่นอกเมืองมีที่ดินว่างที่ยังไม่ได้ใช้งานครับ ผมจึงปรึกษาที่บ้านว่าจะเลี้ยงหมู น้องสาวก็อนุญาตไม่มีปัญหาอะไร ครอบครัวผมก็ต้องย้ายไปอยู่นอกเมืองด้วยกันครับ เพราะเท่ากับเราไม่ต้องเสียค่าเช่า โรงเรือนเลี้ยงหมูเราสร้างบนที่ดินของครอบครัวผมก็ไม่เสียดาย ผมมีประสบการณ์ไม่ดีเคยลงทุนทำการค้าจากที่ไปเช่าที่เขา พอเขาขึ้นค่าเช่าแพงๆ เราไม่เช่า ที่เราเคยทำร้านค้าไป รื้อถอนไม่ได้ ที่ลงทุนไปก็สูญเปล่าครับ ครั้งนี้ผมได้รับโอกาสจากบริษัทมาม่าแล้ว ครอบครัวเราก็จะไม่พลาดอีกครับ

ปรีดา: อาชีพเลี้ยงหมูครั้งนี้ ภรรยาคุณรงค์ในฐานะเป็นผู้ดูแลใช้สิทธิ์แทน ตรงนี้ประเด็นนี้ผมขออธิบายให้ผู้อ่านได้เข้าใจตามหลักปฏิบัติและหลักกฎหมายให้เข้าใจไปด้วยกันนะครับ คือ
·       เมื่อ 2 ปีก่อน (ปี 2561-2562) น้องธำมรงค์ ได้ใช้สิทธิมาตรา 35 รับรายได้ปีละ 109,500 บาท (ยอดเงินมาจาก 300 x 365 = 109,500 บาท) โดยใช้สิทธิ “คนพิการ” ตรงๆ เป็นชื่อน้องธำมรงค์
·       แต่ปี 2563 ภรรยาคุณธำมรงค์ (คุณม่วยเจียง) ได้ใช้สิทธิมาตรา 35 ในฐานะ “ผู้ดูแลคนพิการ” โดยในปีนี้มีมูลค่า 308 x 365 = 112,420 บาท
(มูลค่าตามมาตรา 35 ส่งเสริมอาชีพคนพิการ ที่ได้รับฟรีไม่ต้องกู้ยืมเงิน คิดจาก ค่าแรงขั้นต่ำคูณด้วย 365 วัน ในปี 2563 คือ 308 x 365 = 112,420 บาท) ดังนั้นการเซ็นต์สัญญากับบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) จึงต้องเป็นภรรยาคุณธำมรงค์ คือ คุณม่วยเจียง แทนครับ ผมอยากให้น้องรงค์ช่วยเล่าต่อว่า อาชีพเลี้ยงหมู ของครอบครัวน้องรงค์ ทำไมถึงคิดว่าเป็นอาชีพที่เหมาะสม ครับ

ธำมรงค์: ตามที่พี่ปรีดาได้อธิบายให้ทุกท่านทราบนั่นละครับว่า ปี 2563 ใช้สิทธิ์เป็นภรรยาผมแทน เนื่องจากผมเลี้ยงหมูไม่ได้ ต้องให้ภรรยาเลี้ยง ทำให้ตอนที่มีการตรวจสอบสิทธิ์จากเจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์รับรองการตรวจสอบสิทธิ์แล้วยอมรับได้ เพราะความเป็นจริงคือ ผมไม่สามารถจะไปเลี้ยงหมูได้ครับ ต้องภรรยาผมเท่านั้นครับ ที่สำคัญกว่านั้นที่ครอบครัวผมมั่นใจในอาชีพเลี้ยงหมู เพราะภรรยาผมเคยเลี้ยงหมูมาก่อนครับ

ปรีดา: อ๋อ เป็นแบบนี้นี่เอง คือ ภรรยาน้องรงค์เคยเลี้ยงหมูมาก่อน ผมขอถามแบบสงสัยนะครับ เพราะผมคงไม่มีโอกาสเลี้ยงหมูแน่นอน เลยขอถามว่า น้องรงค์มั่นใจว่าอาชีพนี้จะทำให้อยู่รอดเป็นอาชีพที่ยั่งยืนอย่างไรครับ

ธำมรงค์: ได้ครับ เวลาเราซื้อหมูเราซื้อพร้อมแม่พันธุ์ แม่พันธุ์เราจะไม่ขายไปเป็นเข้าโรงเฉือด จะเน้นขายตัวลูกหมูครับ ลูกหมูเลี้ยงประมาณ 5 เดือนก็ขายได้ หมูเลี้ยงไม่ยาก หมั่นดูแลความสะอาด กับระวังเรื่องยุงกัดเรื่องโรค ถ้าสะอาดก็ช่วยได้มาก คอกหนึ่งเลี้ยง 15-20 ตัว อย่าให้จำนวนมากเกินไปครับ

ผมขอเล่าเพิ่มเติมนะครับว่า ผมตัดสินใจทำโรงเรือนเลี้ยงหมูใช้โครงสร้างเป็นเหล็ก ไม่ใช้ไม้ครับ และรูปแบบโรงเรือนก็สามารถขยายโรงเรือนต่อไปได้เรื่อยๆ ผมจะทำให้เงินทุนที่ทางบริษัทมาม่าให้มาคุ้มค่าที่สุดครับ

ปรีดา: เยี่ยมครับ ผมคิดว่าถ้าทางผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบความคิดน้องรงค์และภรรยาต้องดีใจ ปลื้มใจที่ได้สร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้ครอบครัวน้องรงค์ นะครับ ยังมีปัจจัยอื่นอีกไหมครับที่ตัดสินใจเลี้ยงหมู หรือมีเรื่องอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจไหมครับ

ธำมรงค์: มีครับพี่ปรีดา การที่ผมเลี้ยงในที่ดินที่ครอบครัวบ้านผมนอกเมืองนั้น ไม่มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าและน้ำประปาครับ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ต่อการเลี้ยงหมูครับ ยังมีเรื่องกลิ่น ในเมืองถ้าเราเลี้ยงคงต้องโดนเพื่อนบ้านต่อว่าไม่ยอม พอมาเลี้ยงนอกเมือง บ้านห่างกัน กลิ่นก็จะไม่ค่อยมีปัญหา ยิ่งเรารักษาความสะอาดดีเรื่องกลิ่นก็จะช่วยได้มากครับ

ธำมรงค์: อีกเรื่องหนึ่งครับที่ผมอยากบอกพี่ปรีดา คือ ผมกับภรรยาขอชื่นชมทางบริษัทมาม่า ที่มีนโยบายส่งเสริมอาชีพแบบยั่งยืนนะครับ เราสองคนเคยนั่งคุยกันว่า ถ้ามีเงินก้อนหนึ่ง เราอยากเลี้ยงหมู ในที่สุดทางบริษัทมาม่าก็ให้ความหวังความฝันนี้กับเรา เราดีใจมากที่สุดที่ได้ทุนก้อนนี้ครับ เราสองคนอายุมากแล้ว แรงน้อยลง การได้อาชีพเลี้ยงหมูจึงเป็นทางเลือกที่ดีของครอบครัวเราครับ พี่ปรีดาไม่ต้องห่วงนะครับ ผมจะทำอาชีพนี้ให้ดีที่สุดไม่ให้เสียชื่อพี่เลยครับ

ปรีดา: เดี๋ยวก่อนครับน้องรงค์ ผมพอรู้เรื่องสุขภาพของคุณดีว่าคุณพิการในระดับเดียวกับผม เราพิการรุนแรงเหมือนกัน และผมก็รู้ว่าคุณใช้ชีวิตไม่ได้สบาย ลำบากอย่างไร มีข้อจำกัด ข้อระวัง อะไรบ้าง เราสองคนรู้ซึ้งดี ผมขอเรื่องสำคัญ คุณต้องทำอาชีพนี้ให้พอเหมาะพอดี ไม่ทุ่มเทจนเป็นอันตรายถึงชีวิต ต้องยึดสุขภาพเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ฝืน ต้องพัก ทำตามกำลัง เพราะคุณไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินใคร อดทนอีกนิดเท่านั้น รงค์กับภรรยากำลังจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนพิการในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในเร็วๆ นี้ เพราะที่กาฬสินธุ์ คุณฐานิดา ติดลมบนไปเรียบร้อย ใครๆ ก็ติดต่อขอมาดูงาน อบต.นิคม ก็แวะเวียนมาตลอด ผมก็อยากให้คุณรงค์กับคุณม่วยเจียง ได้เป็นศูนย์การเรียนรู้สิทธิมาตรา 35 เหมือนที่กาฬสินธุ์ครับ

ธำมรงค์: ครับพี่ เพราะผมก็พิการมากอย่างที่พี่ปรีดาพูดละครับ เรื่องนี้พูดให้ใครฟังก็ไม่มีใครเข้าใจเหมือนที่พี่กับผมพิการรุนแรงเหมือนกันเข้าใจกันครับ

ปรีดา: เข้าใจครับ ไม่ต้องห่วง เวลาผมทำโครงการอะไรหรือทำสิ่งใด ถ้าจะต้องเชื่อมไปถึงกลุ่มคนพิการรุนแรง ผมจะมีความเข้าใจเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว ผมถามรงค์ต่อเรื่องความรู้สึกที่ได้รู้ว่าจะได้ใช้สิทธิ์ในโครงการเลี้ยงหมูปีนี้ครับ
             
ธำมรงค์: ครับเราสองคนดีใจมากครับ เราไปขายก๋วยเตี๋ยววันหนึ่งได้เงินไม่มาก บางวันทุนยังไม่ได้ครับ และก็ต้องออกไปเหมือนเร่ร่อน ร่างกายผมก็ไม่เหมาะป่วยง่าย ไม่ไปก็ไม่ได้เพราะห่วงม่วยเจียง และก็อายุมากกันแล้ว การได้ทำอาชีพเลี้ยงหมูอยู่กับบ้านมันเป็นความฝันที่เป็นจริงครับ เมียผมเลี้ยงหมูอยู่บ้าน ทุกวันไม่ต้องไปไหน ดูแลแต่หมู ผมก็อยู่บ้านวาดภาพร่วมในโครงการพี่ปรีดากำลังดำเนินการอยู่ได้อีกทางหนึ่ง กระดาษกับสีน้ำที่ซื้อมาจากการใช้สิทธิ์มาตรา 35 ปีที่ผ่านมา แล้วขายภาพเพิ่มได้เงินมาซื้อก็ยังเหลือ ผมอยู่บ้านก็วาดภาพไป ม่วยเจียงเลี้ยงหมูไป แค่คิดก็มีความสุขมากแล้วครับ

คุณธำมรงค์ ต้องช่วยภรรยา ใช้รถเข็นไฟฟ้าที่รับบริจาคมาลากรถเข็นขายก๋วยเตี๋ยวทุกวันครับ


คุณธำมรงค์ ต้องอยู่เฝ้าร้านก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่ลากมาจนขายเสร็จระหว่าง 17.00-23.00 น. ทุกวันครับ

ปรีดา: ก่อนที่เราจะถึงการขอบคุณในการช่วยเหลือของบริษัทมาม่า ผมขอให้รงค์ช่วยพูดถึงความช่วยเหลือ 2 ปีที่ผ่านมาด้วยครับ เพราะผมเองก็รู้เรื่องราวของรงค์พอสมควร ผมคิดว่ามุมมองของรงค์กับ 2 ปีที่ผ่านมามีความน่าสนใจเช่นกันครับ

ธำมรงค์: ครับพี่ปรีดา ตามความคิดผมนะครับ ผมขอเริ่มตรงที่ผมต้องขอบคุณพี่ปรีดา ที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน จากนั้นพี่ก็คุยกับโอ๊ด โอ๊ดแนะนำให้ผมกับพี่รู้จักกัน แล้วพี่ปรีดาก็เสนอชื่อผมให้กับทางบริษัทมาม่า ในปี 2561 ทันที ชีวิตผมเปลี่ยนแปลงไปทันที เพราะโอกาสที่ทางบริษัทมาม่า ให้ผมมาตลอด 2 ปีนั้น มันมีค่ากับผมมาก มันเป็นทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่าง ของครอบครัวผม เงินที่ผมได้รับทำให้ผมมีคุณค่า ผมดูแลครอบครัวได้ ผมได้พัฒนาฝีมือ จนมีคนซื้อภาพที่ผมวาด การวาดภาพจากนี้ต่อไปจะเป็นรายได้เสริมที่ผมจะไม่ทิ้ง ประสบการณ์ที่ดีทำให้ผมมีรายได้อีกทางครับ

ปรีดา: ผมดีใจแทนรงค์มากเช่นกัน คุยกันยาวเลย ผมว่าน้องรงค์ขอบคุณทางบริษัทมาม่า อยากบอกความรู้สึกอะไรกับทางผู้บริหารทุกระดับของบริษัทมาม่า เชิญเลยครับ

ธำมรงค์: ผมต้องขอขอบพระคุณทางผู้ใหญ่ทุกท่านของบริษัทมาม่าเป็นอย่างสูงที่ให้โอกาสคนพิการรุนแรงอย่างผมถึง 3 ปี และปีนี้ผมจะตั้งใจทำอาชีพเลี้ยงหมูที่เป็นความฝันของเราสองคนให้ดีที่สุด เราจะใช้เงินทุนที่ได้มานี้ให้มีค่ามากที่สุด จะซื่อสัตย์กับเงินทุกบาททุกสตางค์ จะทำให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืน จะเป็นตัวอย่างให้กับคนพิการและครอบครัวอื่นๆ ในจังหวัดที่เราอยู่ (ประจวบคีรีขันธ์) บ้านผมอยู่ใกล้ อบต. ผมจะทำให้โครงการนี้เป็นตัวอย่างการใช้สิทธิมาตรา 35 ที่ครอบครัวคนพิการได้ประโยชน์ตรงให้ดีที่สุดครับ ขอบพระคุณมากๆ กับทุกท่านที่ช่วยเหลือครอบครัวผมถึง 3 ปีด้วยครับ

ปรีดา: ผมขอบคุณคุณธำมรงค์ นนทารักษ์ มากๆ นะครับที่ได้ให้สัมภาษณ์บทความดีๆ ให้เป็นตัวอย่างกับคนพิการที่กำลังรอโอกาส จากทั้งจากบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) และจากสถานประกอบการอื่นๆ และเพื่อเป็นอีกตัวอย่างให้กับสถานประกอบการที่มีความตั้งใจจะช่วยมอบโอกาสดีๆ ให้กับคนพิการอย่างเช่น บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ด้วยครับ
...........................................
หลังบทสัมภาษณ์ผมขอนำตัวอย่างเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิมาตรา 35 ที่ถูกต้องให้ทุกท่านได้ทราบกัน เรื่องหนึ่งที่ผู้ใช้สิทธิมาตรา 35 (คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ) ควรรู้และเป็นจุดสังเกตง่ายๆ หากคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ ไปใช้สิทธิ์ผ่านตัวกลาง เช่น ชมรม สมาคม มูลนิธิ ต่างๆ ที่ทำงานด้านเอกสารไม่โปร่งใส ปกปิด ไม่อธิบายรายละเอียดให้ชัดเจน ชอบนำเอกสารฟอร์มเปล่ามาให้เราเซ็นต์ชื่อ อ้างนู่น อ้างนี่ หรือแย่ที่สุดเอากระดาษเปล่ามาให้เซ็นต์ชื่อ ให้พึงระวังว่าตัวกลางเหล่านั้น จะกระทำการทุจริตสิทธิ์ของคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ โดยเฉพาะไม่ยอมให้เอกสารสำคัญต่างๆ ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ควรรับรู้จากการเซ็นต์ชื่อลงในสัญญาหรือเอกสารต่างๆ ดังนั้น การดำเนินการผ่าน Workable Organization เพื่อได้รับโอกาสจาก บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) จึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่สถานประกอบการที่ต้องการทำถูกต้อง ควรศึกษาไว้เป็นตัวอย่าง และถ้าได้อ่านบทสัมภาษณ์คุณธำมรงค์ จะเห็นว่าการใช้สิทธิมาตรา 35 รูปแบบที่ผู้ใช้สิทธิ์มีความต้องการด้านอาชีพเอง อีกรูปแบบหนึ่งครับ ผมจะขออธิบายข้อมูลไปพร้อมกับภาพข้อมูลที่เผยแพร่ไปพร้อมๆ กันด้วยครับ







สำหรับโครงการ Workable Organization หากคนพิการและผู้ดูแลคนพิการได้เข้าร่วม ก็จะได้รับสิทธิมาตรา 35 เช่นเดียวกันกับหลายๆ ท่านที่ได้รับโอกาสดีๆ จากบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ในเว็บไซต์ รวมถึงคุณธำมรงค์ นนทารักษ์ ในบทความนี้เช่นเดียวกันครับ

ส่วนตัวผมเชิญชวนคนพิการและครอบครัวนะครับ ในการเข้าร่วมโครงการกับเรา Workable Organization ร่วมสมัครเป็นสมาชิกกับเรา อ่านรายละเอียดทั้งหมดก่อนตัดสินใจที่ลิงก์เว็บไซต์นี้ครับ https://workableorganization.blogspot.com/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น